ทำเห็ดก็ต้องหัดบริหารความเสี่ยงด้วย

ก้อนเห็ดที่เสีย
อุทธาหรณ์จากการเลือกซื้อก้อนเห็ด
February 24, 2019
อวสานโลกสวย#คนทำเห็ด
February 24, 2019
Show all

ทำเห็ดก็ต้องหัดบริหารความเสี่ยงด้วย

ขี้เลื่อยไม้ยาง

ขี้เลื่อยไม้ยาง

การบริหารความเสี่ยง(Risk management) เป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจควรมีการวางแผนเอาไว้ เผื่อในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียหาย เราจะได้มีการรับมือกับผลกระทบตรงนั้นได้ทันท่วงที แม้กระทั่งคนทำฟาร์มเห็ดอย่างเราๆ ก็ไม่ควรพลาดที่จะวางแผน บริหารจัดการ  ความเสี่ยงของการเพาะเห็ด ตรงนี้อย่าคิดว่าเราเป็นฟาร์มเล็กๆ แล้วก็ปล่อยไปตามมีตามเกิดก็ได้นะครับ

หลักง่ายๆ เราก็เริ่มจากมาไล่หาปัจจัยความเสี่ยงจากการทำเห็ดก่อนเลยครับ ว่ามีอะไรได้บ้าง ไล่ตั้งแต่กระบวนการผลิตทีละขั้นเลยครับ ตั้งแต่ทำก้อนจนเปิดดอก แล้วค่อยมาระบุระดับความเสียหายถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

– ขี้เลื่อย ปัญหาที่เกิดกับขี้เลื่อยเช่น ขี้เลื่อยขาดแคลนหรือขาดช่วง ขี้เลื่อยมีไม้อื่นปลอมปน ขี้เลื่อยราคาแพง ให้ลองนึกทุกๆความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ยิ่งคิดได้เยอะยิ่งดี อย่างเช่นเรื่องขี้เลื่อยขาดแคลนไม่ว่าจะโรงเลื่อยไม่มีไม้หรือหยุดเลื่อย ถ้าหากเราต้องใช้รถไปขนเอง เราก็อาจต้องหาโรงเลื่อยอื่นสำรองไว้ อย่าไปผูกติดกับโรงเลื่อยเดียว เรื่องขี้เลื่อยมันไม่ใช่เราอยากเข้าไปซื้อที่ไหนก็ซื้อได้ทันที connection ควรจะต้องมี หรือกรณีเลวร้ายที่สุดที่ไม้ยางพารากลายเป็นของหายากราคาแพงมากในอนาคตจากจำนวนการปลูกที่ลดลง เราก็ควรจะมองหาวัตถุดิบชนิดอื่นเอาไว้ล่วงหน้า

– วัตถุดิบต่างๆ ถ้าเกิดกรณีที่ร้านที่คุณสั่งของอยู่ประจำเกิดมีปัญหา โดยเฉพาะพวกข้าวฟ่างหรือรำละเอียด ที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นหลัก เราก็ควรมีแผนสำรองเอาไว้ เช่น เห็ดแครงที่ต้องใช้รำเป็นจำนวนมาก ถ้ารำขาดแคลนหรือมีราคาแพงก็จะกระทบมาก ก็อาจหันมาใช้กากเมล็ดในปาล์มแทน แต่ก็ไม่ใช่จะเดินเข้าไปซื้อเหมือนร้านขายของชำได้นะครับ ดังนั้น connection จึงเป็นสิ่งจำเป็นครับ รู้จักคนไว้เยอะๆดีที่สุด

– การนึ่งก้อน ถ้าเกิดเรานึ่งไม่สุก ก้อนบ่มๆไปแล้วเกิดราขึ้น เราควรจะทำอย่างไร ควรมีการวางแผนล่วงหน้านะครับ ไม่ใช่ทำใจทิ้งอย่างเดียว บางคนก็อาจเอามาผสมกับขี้เลื่อยใหม่ส่วนนึงเอาไปนึ่งใหม่แล้วหยอดเห็ดทนๆเช่น นางรมฮังการีแทนก็ทำได้ครับ แล้วแต่ประสบการณ์เลย

– การเปิดดอก ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเช่นถ้าวันไหนเกิดน้ำไม่ไหลหรือน้ำแห้งจากปัญหาภัยแล้งเราจะทำยังไง จะปล่อยให้เห็ดแห้งตายไปก็คงทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะเห็ดแครงที่เก็บได้ 2-3 รอบก้หมดอายุก้อน ถ้าทิ้งไป 1 รอบก็มีแต่เสมอตัวกับขาดทุนครับ

– ไม่ใช่แต่การผลิตนะครับ การตลาดเราก็ต้องมาคิดเรื่องบริหารความเสี่ยงด้วย เช่นเรื่องราคาขายหรือสินค้าล้นตลาด ทางที่ดีอย่าไปผูกติดกับคนกลางเพียงเจ้าเดียวนะครับ นั่นทำให้อำนาจต่อรองเราหายไปในทันที พวกที่บอกให้ทำมาได้เลยเค้ารับซื้อหมดนี่ต้องระวังนะครับ ในช่วงที่ขายเห็ดสด เราก็อาจมองหาตลาดแปรรูปไว้ควบคู่กันไปได้

ที่บอกไปเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการบริหารความเสี่ยงครับ ยิ่งเป็นการทำเห็ดที่มีขั้นตอนหลายขั้นตอนแล้ว เราควรจะจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมในทุกๆขั้นตอน ยิ่งมีปัจจัยความเสี่ยงเยอะ เราก็จะรับมือกับปัญหานั้นได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนที่จะพูดว่าทำดีที่สุดแล้วได้แค่นี้แหล่ะ ก็ให้ลองมาทบทวนกันอีกทีครับว่าเราพลาดอะไรไปหรือเปล่า

เรียนรู้ กระบวนการเพาะเห็ดเพื่อนำมาประยุกต์เรื่องบริหารความเสี่ยง

เรียนรู้เรื่องความเสี่ยงเพิ่มเติมจาก click ที่นี่

Comments are closed.