หลายๆ ฟาร์มอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการกำจัดก้อนเห็ดที่หมดอายุแล้ว จะเอาไปทิ้งในบริเวณฟาร์มก็กลัวเรื่องศัตรูเห็ดจาก ก้อนเห็ดเก่า จะมารบกวนก้อนเห็ดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ราเขียว ราดำ หรือตัวไร ศัตรูตัวดีของเห็ดที่ถ้าระบาดขึ้นมาก็เตรียมตัวหยุดยาวกันได้เลย หรือถ้าเอาไปทิ้งไว้ภายนอกก็จะเกิดเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถุงพลาสติกหรือตัวขี้เลื่อยเองที่ย่อยสลายช้า
มีบางฟาร์มที่ใช้วิธีนำก้อนเห็ดไปกองไว้ใต้ต้นไม้ให้มันเป็นปุ๋ยไปเองตามธรรมชาติ แต่วิธีนี้จะใช้ได้กับก้อนเห็ดที่ผ่านการเปิดดอกมาแล้วเป็นเวลานานจนทำให้ค่าคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N) อยู่ในค่าที่เหมาะสมต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ กล่าวคือ โดยปกติแล้วในขี้เลื่อยใหม่ๆ จะมีค่าส่วนที่เป็นคาร์บอนเช่น เซลลูโลสและลิกนิน ต่อไนโตรเจนสูงมาก ประมาณ 200:1 ซึ่งจะทนทานต่อการย่อยสลายทางชีวภาพ เมื่อเทียบกับมูลสัตว์ทั่วไปที่มีค่า C/N เพียง 20:1 จึงทำให้ขี้เลื่อยใหม่ไม่เหมาะต่อการนำไปใช้เป็นปุ๋ย
แต่ถ้าหากขี้เลื่อยในก้อนเห็ดเหล่านั้นได้ผ่านการเปิดดอกมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ค่าคาร์บอนก็จะลดลง ประกอบกับมีการใส่ไนโตรเจนที่ได้จากรำข้าวที่เป็นวัสดุในการเพาะเห็ด จึงทำให้อัตราส่วนของ C/N ลดลง อีกทั้งยังมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และ ธาตุอาหารเสริม จนเหมาะสมต่อการนำไปใช้ของพืช
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดบางประการ เช่นเห็ดบางชนิดที่มีช่วงระยะเวลาเปิดดอกสั้นโดยเฉพาะเห็ดแครงที่ใช้เวลาเปิดดดอกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ จึงทำให้การนำไปใส่กับต้นไม้โดยตรงเกิดผลเสียมากกว่าผลดี หรือแม้แต่การนำก้อนเห็ดที่เปิดดอกมาซักระยะแล้วนำไปใส่แทนปุ๋ยตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ธาตุอาหารที่มีในก้อนเห็ดเก่านับว่าน้อยมากจนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืชในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมีร่วม
ดังนั้น จะเป็นผลดีมากกว่าถ้าหากเราได้นำก้อนเห็ดเก่ามาทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยนำมาหมักร่วมกับวัตถุดิบต่างๆ ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น มูลสัตว์ หญ้า เศษผักผลไม้ เป็นต้น ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย โดยวัสดุที่นำมาใช้เหล่านี้จะมีค่าไนโตรเจนที่สูง เมื่อนำมาหมักร่วมกับขี้เลื่อยจากก้อนเห็ดเก่า จึงทำให้อัตราส่วน C/N มีค่าต่ำลงจนเหมาะสมกับการนำไปใช้ของพืช โดยถ้าหากต้องการจะทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง และอยากจะเน้นให้มีธาตุอาหารหลักตัวใดตัวหนึ่งที่สูง ก็สามารถเลือกที่จะใส่วัตถุดิบเข้าไปตามตารางปริมาณธาตุอาหารที่แสดงไว้ในลิ้งค์ตัวอย่างนี้
อีกทั้งในปัจจุบัน การทำปุ๋ยหมักก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ หรือแบบไม่ต้องพลิกกลับกองของม.แม่โจ้ ก็ช่วยลดความยุ่งยากของการทำปุ๋ยหมักไปได้เป็นอย่างมาก และไม่จำเป็นต้องลงทุนทำเป็นโรงเรือนปุ๋ยให้สิ้นเปลือง นอกจากทำแล้วได้ผลดี อยากจะขยับขยายเป็นเชิงพาณิชย์ก็ค่อยลงทุนทำให้มาตรฐานได้ภายหลัง
ด้วยความที่กระแสการรับประทานผักผลไม้ที่เป็นออร์แกนิคในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม การทำปุ๋ยหมักที่ได้จากเศษวัสดุจากพืชที่กล่าวไป จึงจัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีท่ามกลางกระแสรักสุขภาพที่มีมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน
บทความอื่นๆ เข้าไปอ่านได้ที่ https://mushroomvilla.com/articles/